Wednesday 27 October 2010

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส สมัยกรุงรัตนโกสินทร์


ตั้งแต่สมัยอยุธยาตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศลาวและเขมรเคยเป็นประเทศราชของไทย บางคราวในห้วงเวลาดังกล่าวเมื่อไทยอ่อนแอ พม่าซึ่งเป็นประเทศข้างเคียงทางทิศตะวันตกและญวนทางทิศตะวันออก มีกำลังและอำนาจมากขึ้น ลาวก็จะยอมตกไปอยู่ในอำนาจของพม่าบ้าง และของญวนบ้างตามสภาวะแวดล้อม ส่วนเขมรนั้นบางคราวก็ได้อาศัยกำลังหนุนจากญวน และตกอยู่ใต้อิทธิพลของญวน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ฝรั่งเศสได้ส่งเมอซิเออร์ เดอมองติญี (Monsieur de Montigny) เป็นราชฑูตเข้ามาเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้ากับไทย โดยยึดถือแนวทางการทำสัญญาเช่นเดียวกับอังกฤษ ที่ได้ทำไว้กับไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ได้เริ่มมีกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ กงสุลฝรั่งเศสคนแรกคือ คองต์ เดอ คาสเตลโน (Conte de Castenau)

ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ ไทยได้ส่งพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ไปทำสัญญากับฝรั่งเศสเรื่องเมืองเขมรกับฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ตามสัญญาฉบับนี้ไทยยอมรับรู้ว่าเขมรอยู่ใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส ส่วนเมืองพระตะบองและเสียมราฐนั้น ฝรั่งเศสยอมให้ไทยปกครองตามเดิม ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสเริ่มแบ่งเขตแดนไทยกับเขมรบริเวณทะเลสาบกับแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยต้องการเมืองจงกัล เมืองโซเตียน เมืองมโนไพร และเมืองท่าราชปริวัตรเป็นของไทย

ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ไทยได้ส่งพระยาราชวรากูล (บุญรอด กัลยาณมิตร) ไปเจรจากับฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนและการภาษีจับปลาในทะเลสาบ การเจรจาปัญหาเขตแดนไม่คืบหน้านัก เนื่องจากฝรั่งเศสเริ่มทำสงครามกับเยอรมนี


ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ไทยยกกำลังไปปราบฮ่อ โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพ ฝรั่งเศสได้กล่าวหาไทยว่าถือโอกาสรุกล้ำเข้าไปในดินแดนลาว ซึ่งอยู่ในอำนาจของญวน ซึ่งฝรั่งเศสกำลังจัดการปกครองเมืองญวนอยู่

ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงทำอนุสัญญาเมืองหลวงพระบาง โดยมี ม.ปาวี (Auguste Pavie) เป็นไวซ์กงสุล (Viee Consul) ประจำเมืองหลวงพระบาง เพื่อทำหน้าที่ดูแลความเคลื่อนไหวของไทยในดินแดนลาว และสำรวจการสร้างทางระหว่างตังเกี๋ยกับแม่น้ำโขง




ม.ปาวี (Auguste Pavie)


ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ไทยกับฝรั่งเศสได้เจรจาเรื่องปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับญวน โดยตั้งกรรมการผสม โดยมี ม.ปาวี เป็นหัวหน้าคณะ ออกทำการสำรวจแผนที่และภูมิประเทศชายแดน และในปีต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันว่า กองทหารไทยจะไม่เข้าไปในแคว้นสิบสองจุไทย ส่วนในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นพวน คงให้อยู่ในสถานะเดิมคือ ทหารฝ่ายใดตั้งอยู่ที่ใดก็ให้คงอยู่อย่างนั้น ห้ามรุกล้ำเขตซึ่งกันและกัน จนกว่าจะได้ทำความตกลงกันที่กรุงเทพ ฯ ส่วนทางด้านคำเกิด คำม่วน กองทหารไทยยกไปตั้งจนถึงเขตแดนญวน ม.ปาวี ก็ได้ทำความตกลงกับข้าหลวงเมืองหนองคาย ให้ต่างฝ่ายต่างรักษาสถานะเดิม คือให้ฝ่ายไทยอยู่ที่คำม่วน ฝรั่งเศสอยู่บ้านนาเป

ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ม.ปาวี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นไวซ์กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ และได้เลื่อนฐานะเป็นราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๕

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสชื่อ ม.เดอลองดล์ ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาดินแดน ซึ่งเคยเป็นของญวนและเขมร รัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบ และให้รับดำเนินการต่อไป จากนั้นฝรั่งเศสได้ยกกำลังทหารเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตงเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการใช้กำลัง ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ใน ร.ศ.๑๑๒


***************************************************************


No comments:

Post a Comment